รวมตอบข้อสงสัย? โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) พบได้บ่อยทั่วโลกและในประเทศไทยติด 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย เฉลี่ยปีละกว่า 3,000 คน ซึ่งโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) จัดเป็นโรคมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา หรือระบบโรคเลือด เป็นมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง โดยต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง
เราได้รวบรวมคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไว้เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้เรียนรู้ที่นี่…

สารบัญ : คำถามพบบ่อยของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
-
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร
- ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ลักษณะอาการแสดงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สำคัญมีอะไรบ้าง
- หลังจากแพทย์ตรวจประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว สงสัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์มีแนวทางการวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่าไงรบ้าง
- หลังจากวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว แพทย์มีแนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่างไรบ้าง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) จัดเป็นโรคมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา หรือระบบโรคเลือด เป็นมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งคือต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง และนอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว
เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทั่วไปในอวัยวะทุกๆ อวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง ของกระเพาะอาหาร ของลำไส้เล็ก ของลำไส้ใหญ่ ของผิวหนัง ของโพรงจมูก และของไซนัส
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนของต่อมน้ำเหลืองเอง และของเนื้อเยื่อต่างๆ มีสาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย ระยะโรค แนวทางการรักษา และความรุนแรงโรคคล้ายคลึงกัน
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) พบได้น้อยกว่า และมีลักษณะเฉพาะคือ พบ Reed-sternberg cell ซึ่งไม่พบในมะเร็งต่อน้ำเหลืองชนิดอื่น
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ สามารถแบ่งออกได้หลายชนิดย่อย ซึ่งถ้าอาศัยการเจริญของตัวมะเร็งแล้ว จะสามารถแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินออกได้ 2 ชนิด คือ
- ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งค่อนข้างช้า แต่มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่หายขาดด้วยการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นชนิดค่อยเป็นค่อยไป indolent ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มทำการรักษาในทันที แพทย์จะพิจารณาข้อบ่งชี้ในการรักษาก่อนโดยดูจากอาการแสดง และระยะของโรคเป็นหลัก หากอาการไม่รุนแรงหรือคนไข้ยังไม่แสดงอาการหรือยังไม่มีข้อบ่งชี้ให้เริ่มการรักษา แพทย์จะใช้วิธีเฝ้าระวัง คือนัดมาตรวจดูการเติบโตของเซลล์มะเร็งอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อทำการรักษาไม่ให้เซลล์เหล่านี้ลุกลาม
- ชนิดรุนแรง (Aggressive) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี ข้อแตกต่างจากมะเร็งชนิดค่อยเป็นค่อยไปคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรงมีโอกาสหายหาดจากโรคได้ ถ้าได้รับการรักษา ดังนั้นหากแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยเป็นชนิดโรคลุกลามเร็ว aggressive แพทย์จะรีบทำการรักษาทันทีไม่ว่าจะอยู่ในระยะโรคไหนและจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม
ลักษณะอาการแสดงของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สำคัญมีอะไรบ้าง
มะเร็งชนิดนี้ถือเป็น “ภัยเงียบ” เพราะการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะแรกค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน อาการส่วนใหญ่มักพบก้อนโตขึ้นบริเวณต่อมน้ำเหลืองหรืออาจพบที่บริเวณอื่นๆของร่างกายก็ได้ โดยเป็นก้อนที่กดไม่เจ็บ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจและละเลยการมาพบแพทย์ จนกระทั่งโรคกำเริบหรือมีอาการมากแล้วถึงค่อยมาหาหมอแถมสาเหตุของโรค ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เป็นได้ทั้งสภาพแวดล้อม และการติดเชื้อต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามให้ผู้ป่วยสังเกตอาการแสดงที่ชัดเจนที่เป็นตัวแสดงสำคัญของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เรียกว่า อาการ บี (B symptoms) คือ
- มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส โดยไม่มีสาเหตุและเป็นระยะเวลานานถึง 1-2 สัปดาห์
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัวในช่วงระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ
หลังจากแพทย์ตรวจประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว สงสัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์มีแนวทางการวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่าไงรบ้าง
- ตรวจค่าเลือด complete blood count (CBC)
- ตรวจไขกระดูก
- ตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) จากก้อนเนื้องอก ตรวจทางพยาธิวิทยาและตรวจพิเศษอื่น ๆ
- ตรวจค่าตับ ค่าไต, คลำดูการโตของตับ ม้าม
- ทำ CT scan และ/หรือ MRI ที่บริเวณทรวงอก ช่องท้อง และที่ ๆ มีก้อน
- Plain films บริเวณทรวงอกและที่อื่นที่มีก้อนเนื้องอก
- ตรวจก้อนในช่องท้องด้วย ultrasound
- ตรวจทางพันธุกรรม เพื่อหาความเปลี่ยนแปลง หรือการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง
หลังจากวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว แพทย์มีแนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่างไรบ้าง
การรักษาแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ
- การเฝ้าระวังโรค: จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดไม่รุนแรงที่ยังไม่ต้องการรักษา โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามเป็นระยะ เมื่อพบว่าโรคมีการกระจายมากขึ้น หรือเกิดอาการจากตัวโรคจึงจะพิจารณาให้การรักษา
- การใช้ยาเคมีบำบัด: คือการใช้ยาที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายแบบไม่จำเพาะเจาะจง สูตรยาเคมีบำบัดจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคที่เป็น แต่ละสูตรมีผลดีและผลข้างเคียงที่ต่างกัน โดยมากแพทย์มักเลือกให้ยาเคมีบำบัดหลายตัวควบคู่กัน เป็นยาเคมีบำบัดสูตรผสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างครบถ้วน และเนื่องจากยาเคมีบำบัด ออกฤทธิ์แบบไม่จำเพาะเจาะจง การทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วนี้ อาจรวมถึงการทำลายเม็ดเลือดชนิดอื่นๆ ในร่างกาย(เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว) ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น อาจทำให้ร่างกายดูซีดลง หรือผมร่วง ข่าวดีคือในปัจจุบัน เรามีวิธีบรรเทาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในปัจจุบันก็มียาเคมีบำบัดตัวใหม่ๆที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยผมร่วงด้วย ดังนั้นยาเคมีบำบัดจึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิดอีกต่อไป โดยการเลือกใช้ยาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
- การรักษาด้วยการฉายรังสี: เป็นการใช้รังสีขนาดสูงเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งในแต่ละบริเวณ มักพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะแรกๆ หรือกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองที่มีก้อนขนาดใหญ่มาก จนการรักษาด้วยยาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงใช้การฉายแสงร่วมด้วยเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ตำแหน่งที่มีการรับรังสี อาจมีอาการอักเสบ หรือมีรอยดำบ้าง แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันถือว่าปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่น
- การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapies)
เป็นการใช้ยาที่เฉพาะเจาะจงไปยับยั้งการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง นอกจากการรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีแล้ว ยังมีความปลอดภัยกับเซลล์ปกติในร่างกายอีกด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงของยาน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดหรือการรักษาด้วยรังสี
- การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell transplantation)
เป็นการให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ แล้วตามด้วยการปลุกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cell) จากของผู้ป่วยเอง หรือจากของผู้บริจาค เพื่อสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ที่แข็งแรงทดแทนเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีความซับซ้อนและอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด มักพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ดื้อต่อการรักษาหรือในผู้ที่มีโรคกลับ
จะเห็นว่าในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเราเองสามารถสังเกตตัวเองได้ง่ายๆโดยการ การหมั่นสังเกตความผิดปรกติของร่างกาย และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี สุดท้ายนี้ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอย่างที่คิด โดยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือเราสามารถอยู่ร่วมกับโรคมะเร็งได้อีกนาน หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี