การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีหลากหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามสุขภาพร่างกาย ระยะของโรค เพื่อการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ
1.การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) :
วิธีหลักของการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายแบบไม่จำเพาะเจาะจง โดยมีหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นต้น ซึ่งสูตรยาเคมีบำบัดจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคที่เป็น แต่ละสูตรมีผลดีและผลข้างเคียงที่ต่างกัน เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้กับทุกระยะ ทุกตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง
2.การรักษาด้วยฉายรังสี (Radiation Therapy)
เป็นการใช้รังสีขนาดสูงเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งในแต่ละบริเวณ แพทย์มักพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะเริ่มแรก หรือกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีก้อนขนาดใหญ่มาก
จนการรักษาด้วยยาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
3.การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapies)
เป็นการใช้ยาที่เฉพาะเจาะจง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยวิธีนี้นอกจากจะได้ผลดีแล้ว ยังมีความปลอดภัยกับเซลล์ปกติในร่างกายอีกด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงของยาน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดหรือการรักษาด้วยรังสี
4.การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell transplantation) :
เป็นการให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ แล้วตามด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การปลูกเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้ป่วยเอง(Autologous transplantation) และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้บริจาค (Allogeneic transplantation) ซึ่งวิธีนี้รักษาได้ผลเป็นอย่างดีในผู้ป่วยที่เป็นชนิดรุนแรง มีอาการดื้อยา หรือผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำอีก
5.การเฝ้าระวังโรค
สำหรับกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดไม่รุนแรง ยังอยู่ในระยะที่ 1 ลุกลามช้า ยังไม่แสดงอาการมากนัก แพทย์จะนัดพบผู้ป่วย เพื่อติดตามอาการเป็นระยะ โดยจะมีการเจาะเลือด ตรวจร่างกาย หรือตรวจทางรังสี เมื่อพบว่าโรคมีการกระจายมากขึ้น หรือเกิดอาการจากตัวโรคจึงจะพิจารณาให้การรักษาต่อไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นการวางแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย อาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีควบคู่กันไปตามแผนการรักษาของแพทย์