ทำความรู้จักโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
ต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) มีลักษณะทรงมนเป็นวงรีรูปไข่ ขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร ประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) จำนวนมาก ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะกระจายอยู่ทั่วทุกอวัยวะในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย และดักจับสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ แต่จะไม่สามารถดักจับสารพิษได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงกว่าปกติทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) พบได้บ่อยทั่วโลกและในประเทศไทยติด 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย เฉลี่ยปีละกว่า 3,000 คน ซึ่งโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) จัดเป็นโรคมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา หรือระบบโรคเลือด เป็นมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง โดยต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง
นอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทั่วไปในอวัยวะทุกๆ อวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง ของกระเพาะอาหาร ของลำไส้เล็ก ของลำไส้ใหญ่ ของผิวหนัง ของโพรงจมูก และของไซนัส โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งของต่อมน้ำเหลืองเอง และของเนื้อเยื่อต่างๆ มีสาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย ระยะโรค แนวทางการรักษา และความรุนแรงโรคคล้ายคลึงกัน
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ( Hodgkin Lymphoma : HD)
พบได้น้อยกว่า และมีลักษณะเฉพาะคือ พบ Reed-sternberg cell ซึ่งไม่พบในมะเร็งต่อน้ำเหลืองชนิดอื่น
2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma : NHL)
เป็นชนิดที่พบได้มากในประเทศไทย มักเกิดในเด็กหรือผู้สูงอายุ และพบได้มากกว่าชนิดฮอดจ์กินถึง 9 เท่า ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 30 ชนิด แต่หากอาศัยการเจริญเติบโตของตัวมะเร็งแล้วจะสามารถแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินออกได้ 2 ชนิด คือ
-
ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent)
อัตราการแบ่งตัวและการแพร่กระจายของมะเร็งเป็นไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จึงไม่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาในทันที โดยแพทย์อาจพิจารณาข้อบ่งชี้ในการรักษาก่อนใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ ระยะของโรคจากตัวผู้ป่วยแต่ละราย หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงอาจใช้วิธีเฝ้าระวัง คือนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการการเติบโตของเซลล์มะเร็งอย่างต่อเนื่อง เช่นทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อทำการรักษาไม่ให้เซลล์เหล่านี้ลุกลาม แต่มะเร็งชนิดนี้มักจะรักษาไม่หายขาด
-
ชนิดรุนแรง (Aggressive)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวและแพร่กระจายของมะเร็งอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้เข้ารับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แพทย์จะรีบทำการรักษาทันทีไม่ว่าจะอยู่ในระยะโรคไหนและจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม แต่ในทางกลับกันหากรักษาอย่างทันท่วงทีจะมีโอกาสหายหาดจากโรคได้